โครงการราชภัฏพัฒนาท้องถิ่น สร้างนวัตกรรมชุมชนสู่สากล ครั้งที่ 2
ในการนี้ มีคุณ Chen Yougui และคุณ Luo Zaihui ผู้นำชุมชนจากเมือง Zhao Tong มณฑลยูนนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ โดยคุณ Chen เล่าว่าตนประกอบอาชีพทำไร่แอบเปิ้ลจำนวน 15 ไร่ และสวนสมุนไพร โดยขายในประเทศ และส่งออกต่างประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ประสบปัญหาการส่งออกและขายผลไม้เช่นเดียวกัน จึงใช้วิธีการขายผ่านระบบออนไลน์แทน จึงทำให้มีรายได้ระหว่างที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด สำหรับการประกอบอาชีพด้านการเกษตรในจีนจะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลในการส่งเสริมเทคโนโลยีด้านการเกษตร การรับประกันคุณภาพการผลิต สำหรับเกษตรกรที่ต้องการกู้ยืมเงินเพื่อการลงทุน สามารถยื่นกู้กับธนาคารได้ โดยผ่อนชำระคืนแก่ธนาคารทุกๆ 5 ปี และแม้ว่าในชุมชนของคุณ Chen จะทำไร่แอปเปิ้ลกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ทุกคนจะร่วมแรงร่วมใจกันประชาสัมพันธ์และควบคุมคุณภาพร่วมกัน เพื่อให้ขายได้ในราคาที่สูง ซึ่งแอบเปิ้ลในชุมชน Zhao Tong ถือเป็นแอบเปิ้ลที่มีความหวาน กรอบอร่อยและมีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่ง ทั้งนี้ ชาวสวนแอบเปิ้ลยังได้รับการช่วยเหลือจากบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งด้านแหล่งทุน ต้นพันธ์ และการรับซื้อผลไม้ ทำให้ทุกครัวเรือนสามารถมีรายได้จากการปลูกแอบเปิ้ลได้ตลอดปี
สำหรับชุมชนไทย มีคุณป้านภา น้อยมา เป็นผู้แทนร่วมแลกเปลี่ยน โดยคุณป้านภาเป็นเจ้าของสวนคุณพงษ์ ควายยิ้ม สวนเเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง โคกหนองนาโมเดล หมู่ 8 ตำบลคณฑี อำเภอเมืองกำแพงเพชร โดยคุณป้าทำเกษตรตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงบนพื้นที่ 24 ไร่ เป็นแบบสวนผสม โดยผลผลิตในสวนชาวชุมชนสามารถเข้ามาเก็บผลผลิตทานได้ฟรี บางส่วนจำหน่ายและแปรรูปขาย นอกจากนี้ ยังมีการเลี้ยงไก่ไข่ เป็ด ควาย หอย และการปลูกปาล์มขาย ซึ่งทำให้มีรายได้ประมาณเดือนละ 20,000 บาท ซึ่งไม่มีรายจ่ายอื่น เนื่องจากป้านภาปลูกข้าวไว้ทานในครัวเรือน และมีไข่ไก่ทานตลอดปี และนำข้าวบางส่วนมอบให้โรงเรียนในพื้นที่เพื่อใช้ทำอาหารให้นักเรียนทาน มีการรวมกลุ่มผู้สูงอายุเพื่อสร้างรายได้ในกลุ่ม ทั้งการจักสาน การประกอบอาหาร และการแปรรูปอาหาร เป็นต้น
ทั้งนี้ หลักการของชุมชนทั้งสองประเทศที่คล้ายกัน คือ ทุกคนทำในสิ่งที่ตนเองรักและชอบทำ ทำในสิ่งที่ชุมชนหรือท้องถิ่นตนเองถนัดและรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งและต่อรองราคากับนายทุนหรือพ่อค้าผู้รับซื้อได้ โดยใช้คุณภาพเป็นเครื่องมือในการบอกต่อและสร้างความโดดเด่นให้ตนเอง นอกจากนี้ ทั้งสองชุมชนเชื่อว่า การนำวัตถุดิบและสิ่งที่ตนเองมีอยู่ในชุมชนสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่น่าสนใจ จะทำให้ชุมชนนั้นมีความยั่งยืนทั้งด้านอาชีพและรายได้ที่จะไม่ก่อให้เกิดหนี้จนเกินตัว สิ่งสำคัญที่ทั้งสองชุมชนเห็นร่วมกัน คือ ความรัก ความสามัคคีในชุมชน และความอบอุ่นในครอบครัว คือ พื้นฐานความเข้มแข็งของสังคมอย่างแท้จริง
โอกาสนี้ ขอขอบคุณ Chen Yougui คุณ Luo Zaihui ผู้นำชุมชนจากเมือง Zhao Tong มณฑลยูนนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และป้านภาที่ร่วมแลกเปลี่ยนกับเราในครั้งนี้
ขอขอบคุณ Miss Chen Guo Qing นักศึกษาต่างชาติมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร สำหรับการเป็นล่ามแปลที่น่ารักในครั้งนี้
ขอขอบคุณอาจารย์นิวดี คลังสีดา อาจารย์โปรแกรมวิชาเทคโนโลยีพลังงาน คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ผู้ประสานงานการจัดกิจกรรมในครั้งนี้
ขอขอบคุณรองศาสตราจารย์ ดร. สุนทรี ดวงทิพย์ ทีมวิเทศสัมพันธ์ฯ ที่พร้อมลุยงานกับเราในทุกพื้นที่ด้วยหัวใจที่แกร่งเกินร้อย
ขอขอบคุณนักศึกษาช่วยงานจากโปรแกรมวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
วิเทศสัมพันธ์และกิจการอาเซียน มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2565). โครงการราชภัฏพัฒนาท้องถิ่น สร้างนวัตกรรมชุมชนสู่สากล ครั้งที่ 2. สืบค้น 20 เมษายน 2568, จาก https://iraa.kpru.ac.th/?page_id=399&lang=TH
ข้อมูลอื่น ๆ
ความร่วมมือด้านต่างประเทศของมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร (KPRU International Collaboration)
เผยแพร่เมื่อ 25 กันยายน 2568