มหกรรมแสดงผลงานวิชาการระดับชาติ ของบุคลากรสายสนับสนุนในสถาบันอุดมศึกษาครั้งที่ 7
เมื่อวันที่ 6-7 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ดร.ชฎาพร โชติรดาภาณ์ นักวิเทศสัมพันธ์ ชำนาญการ เข้าร่วมมหกรรมแสดงผลงานทางวิชาการระดับชาติของบุคลากรสายสนับสนุนในสถาบันอุดมศุกษา ครั้งที่ 7 พ.ศ. 2567 ในธีม Just fast is not enough in BANI World ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สำหรับการร่วมมหกรรมแสดงผลงานในครั้งนี้ ดร.ชฎาพร โชติรดาภาณ์ ได้นำเสนอผลงานคู่มือปฏิบัติงานเรื่อง คู่มือสำหรับหน่วยงานเพื่อเตรียมจัดทำข้อตกลงความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดทำคู่มือเพื่อ 1) รวบรวมข้อมูล วิธีการ และรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการของหน่วยงานในมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชรกับสถาบัน/องค์กรทั้งในและต่างประเทศ 2) เพื่อใช้เป็นแนวทางประกอบการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเพื่อนำเสนอต่อมหาวิทยาลัยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน 3) เพื่อเป็นคู่มือในการกำกับ ตรวจสอบการปฏิบัติงานเกี่ยวกับเตรียมการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร และ 4) เพื่อให้มั่นใจว่ามีการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับหลักเกณฑ์ วิธีการ ที่กำหนดไว้อย่างสม่ำเสมอและสอดคล้องกับนโยบายและวัตถุประสงค์ของหน่วยงาน
โดยการจัดงานครั้งนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ ที่ประชุมสภาข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างมหาวิทยาลัยแห่ง ประเทศไทย (ปขมท.) เครือข่ายวิจัยและนวัตกรรม จัดงานมหกรรมแสดงผลงานวิชาการระดับชาติ ของบุคลากรสายสนับสนุนในสถาบันอุดมศึกษาครั้งที่ 7 ประจำปี พ.ศ. 2567 ในธีม “แค่เร็วยังไม่พอในยุค BANI World (Just fast is not Enough in BANI World) โดยมีศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานเปิด นายพร พรมมหาราช ประธานกรรมการสภาพนักงาน กล่าวรายงาน ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปาฐกถาพิเศษ “แค่เร็วยังไม่พอในยุค BANI WORLD” รองศาสตราจารย์ประเสริฐ ฤกษ์เกรียงไกร รองอธิการบดี มอบของที่ระลึก รวมถึงการเสวนาวิชาการพิเศษ เรื่อง นวัตกรรม ใคร ๆ ก็ทำได้ โดยคุณอานนท์ น้อยอ่ำ CEO บริษัท BeNest จำกัด และคุณปราชญ์ สงวนศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มช. โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ รองอธิการบดี เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อนำเสนอผลงานด้านการพัฒนางาน สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม และ คู่มือปฏิบัติงาน โดยบุคลากรสายสนับสนุนในสถาบันอุดมศึกษาจากทั่วประเทศ ในรูปแบบ Poster และ Oral Presentation กว่า 130 เรื่อง
"มหาลัยต้องสร้าง global citizens ให้คนของเรามี global mindset ทำอย่างไรให้ทุกคนมองว่าโลกนี้คือแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ เราจะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ และเหมือน AI ที่สุด หรือเราจะทำให้ AI เหมือนมนุษย์ที่สุด? และเพราะโลกนี้ไม่เคยหยุดนิ่ง เราจึงต้องพัฒนาตัวเอง และพัฒนางานของตัวเองตลอดเวลาอย่างไม่หยุดนิ่ง!" ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ กล่าว
.....
โลกยุคบานี่ (BANI World) เป็นกรอบคิดที่พยายามอธิบายและพยากรณ์โลกยุคใหม่ ถูกคิดค้นโดย Jamais Cascio นักอนาคตวิทยาและนักพฤติกรรมศาสตร์ชาวอเมริกัน โดยเสนอแนวคิดว่าหลายสิ่งในโลกแตกสลายได้ง่าย และก่อให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลก ความเปราะบางนี้ส่งผลต่อความมั่นคงขององค์กรต่างๆ ไม่เพียงต่อการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่รวมถึงสภาพจิตใจของพนักงานที่ต้องทำงานในโลกแห่งความสับสนอลหม่านนี้ด้วยเช่นกัน
Brittle - โลกที่เปราะบาง ไม่ยั่งยืน และถูก disrupt ได้โดยง่าย ไม่เว้นแม้แต่ความสำเร็จทางธุรกิจ ดังนั้นองค์กรจึงควรเสริมความเปราะบางนี้โดยการเพิ่ม Soft Skill, Hard Skill และ Digital Skill ให้แก่พนักงาน เพื่อให้มีศักยภาพที่จะรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา ตัวผู้นำเองก็ต้องก้าวทันเทคโนโลยีด้วยการพัฒนาระบบขององค์กรให้ทันสมัย ไม่เว้นช่องว่างให้เกิดการแทนที่กันทางธุรกิจ จึงจะช่วยให้พนักงานและองค์กรมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
Anxious - โลกที่เต็มไปด้วยความวิตกกังวล ไม่เพียงแต่เฉพาะชีวิตส่วนตัว แต่ในการทำงานก็เช่นกัน ส่งผลต่อสุขภาพจิต เกิดความเครียดและทรมานจากอาการ Burn out มากขึ้น องค์กรจึงควรมีวิธีในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับพนักงานด้วยความเข้าอกเข้าใจ สร้าง mindset ให้ทุกคนในองค์กรมีสติพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง
Nonlinear - โลกที่ความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ไม่เป็นเส้นตรง หลายเหตุการณ์เกิดขึ้นแบบไม่มีใครคาดคิด ขาดตรรกะ และไม่เป็นเหตุเป็นผล ในสถานการณ์เช่นนี้ องค์กรควรปฏิรูปรูปแบบการทำงานใหม่ให้มีความยืดหยุ่น ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น เพื่อไม่ให้พนักงานเคยชินกับรูปแบบเดิมๆ นานเกินไปจนปรับเปลี่ยนตามความเปลี่ยนแปลงไม่ทัน พัฒนาทีมทำงานให้ทันโลกอยู่เสมอ
Incomprehensible - โลกที่ซับซ้อนและเข้าใจยาก ในภาวะที่ทุกอย่างไม่ได้มีความเชื่อมโยงเป็นเหตุเป็นผล ข้อมูลข่าวสารไม่ว่าจะจริงหรือเท็จล้วนมีปริมาณมากและซับซ้อน ทำให้การวิเคราะห์ สังเคราะห์ หรือสรุปเป็นไปได้ยาก องค์กรจำเป็นต้องสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อค้นหาคำตอบสำหรับปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้น เช่น การใช้เทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ Big Data เข้ามาช่วยในการทำงาน และบางครั้งการวางแผนระยะยาวอย่างละเอียดอาจไม่สมเหตุสมผลอีกต่อไป
ที่มา: https://se.school/knowledge/62
วิเทศสัมพันธ์และกิจการอาเซียน มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2567). มหกรรมแสดงผลงานวิชาการระดับชาติ ของบุคลากรสายสนับสนุนในสถาบันอุดมศึกษาครั้งที่ 7. สืบค้น 20 มกราคม 2568, จาก https://iraa.kpru.ac.th/?page_id=540&lang=TH
ข้อมูลอื่น ๆ
ความร่วมมือด้านต่างประเทศของมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร (KPRU International Collaboration)
เผยแพร่เมื่อ 25 กันยายน 2568
รับคณะจาก Bowling Green State University ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อจัดกิจกรรมร่วมมือทางวิชาการสู่ปีที่ 12
เผยแพร่เมื่อ 9 มกราคม 2568