ความเป็นสากลในบ้าน
INTERNATIONALIZATION AT HOME: ความเป็นสากล’ เบ่งบานได้จาก ‘ในบ้าน
จุดเริ่มต้นของคำว่า “ความเป็นสากล” ในประเทศไทย
ในประเทศไทยพบว่ามักใช้ความเป็นสากลผ่านคำศัพท์ “Globalization” โดยแสดงถึงผลกระทบของการเคลื่อนย้ายเพื่อผลทางการเมืองและเศรษฐกิจ ต่อมาได้เกิดคำใหม่ว่า “โลกาภิวัฒน์” และต่อมาเกิดการใช้คำว่า “Interantionalization” ซึ่ง Jane Knight ระบุว่ามีการใช้คำว่า “Interantionalization” ในทางรัฐศาสตร์และในภาครัฐมาเป็นศตวรรษแล้ว และเริ่มนำมาใช้ในด้านการศึกษาอย่างจริงจังในต้นทศวรรษที่ 1980 โดยมักใช้คำว่า “international education” ต่อมาได้เกิดคำศัพท์ใหม่ๆ เช่น transnational, borderless และ cross-border education
สำหรับประเทศไทยโดยสำนักยุทธศาสตร์อุดมศึกษาต่างประเทศ สำนักปลัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย นวัตกรรม (สป.อว.) ได้กำหนดและใช้คำว่า “internationalization (IZN): ความเป็นสากล
ทำไมความเป็นสากลเป็นเรื่องไกลตัวในประเทศไทย
กระบวนการสู่ความเป็นสากลในสถาบันอุดมศึกษาไทยเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่พบว่าความเป็นสากลในประเทศไทยยังไม่ประสบความสำเร็จตามที่ควรจะเป็น ทั้งนี้เพราะ
1. นโยบายความเป็นสากลในระดับกระทรวงขาดความต่อเนื่องและไม่ชัดเจน
2. ความเป็นสากลเป็นนามธรรมที่ไม่สามารถเข้าใจได้ชัดเจน ทำให้ผู้บริหารไม่เห็นความสำคัญหรือไม่สนับสนุนเท่าที่ควร รวมถึงการเข้าใจว่าความเป็นสากลคือการเรียนการสอนด้วยภาษาอังกฤษ การมี MOU การมีนักศึกษาต่างชาติ ฯลฯ โดยลืมคิดถึงนิยามความเป็นสากลของบริบทมหาวิทยาลัยตัวเอง
3. ประโยชน์ที่ได้รับจากความเป็นสากลยังจำกัดอยู่กับบางเรื่องบางกลุ่ม ทำให้ทุกคนมองภาพรวมของความเป็นสากลว่าเป็นเพียง “ส่วนสนับสนุน”
4. ความร่วมมือในการประสานการทำงานเพื่อสร้างความเป็นสากลเป็นไปแบบต่างคนต่างทำ ขาดความเข้มแข็ง ก่อให้เกิดทัศนคติคับแคบต่อความเป็นสากล นำไปสู่การไม่ให้ความร่วมมือ ทำให้ขาดพลังขับเคลื่อนในเชิงปฏิบัติและเชิงคุณภาพ
5. ขาดการแสดงให้ประชาคมอุดมศึกษาเห็นว่า สกอ. หรือ อว. เป็นแบบอย่างที่ดีของการสร้างความเป็นสากลเพื่อแบ่งปันการดำเนินการที่เห็นผลประจักษ์อย่างแท้จริง
บทบาทงานวิเทศสัมพันธ์กับความเป็นสากล
สถาบันอุดมศึกษาจำเป็นต้องวางบทบาทของหน่วยงานวิเทศสัมพันธ์ให้ชัดเจนในการตอบโจทย์ความเป็นสากล โดยการพัฒนานักวิเทศสัมพันธ์ให้ตรงจุด โดยเน้นการพัฒนาบุคลากรวิเทศสัมพันธ์ให้มีความสามารถโดดเด่นในการประสานภาพรวม เป็นคนที่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก เป็นผู้สร้างและสานเครือข่ายกับพันธมิตรต่างประเทศให้เกิดเครือข่ายเชิงกลยุทธ์ นอกจากนี้บุคลากรวิเทศสัมพันธ์ยังต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการโครงการความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนนักศึกษา บุคลากรและการติดตามผลได้อย่างมีคุณภาพ สิ่งสำคัญคือ การส่งเสริมบทบาทเชิงรุกของวิเทศสัมพันธ์ที่ควรต้องมีมากขึ้น รวมถึงความรู้และทักษะที่มีคุณภาพ
การสร้างความเป็นสากลในบ้าน
Jenny Lee ได้กล่าวถึงความเป็นสากลในบ้าน (Internationalization at Home: IaH) ว่า หมายถึง การให้ความรู้แกนักศึกษาในมหาวิทยาลัยถึงคุณค่าของความเป็นสากลและการพัฒนาทักษะพื้นฐานสากล เช่น ความสามารถในการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพด้วยภาษาต่างประเทศ มีความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมอันหลากหลายนอกประเทศ และมีเครือข่ายต่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จในสังคมโลก
การสร้างความเป็นสากลในบ้านจึงเป็นเรื่องการปรับระบบบริหารจัดการโครงการแลกเปลี่ยนและการจัดการความรู้ไปสู่การใช้ทุกโอกาสของชีวิตทั้งในและนอกรั้วมหาวิทยาลัยให้เป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยให้เต็มประสิทธิภาพที่สุด รวมถึงการปรับความเข้าใจที่ตรงกันของผู้นำระดับสูงทั้งในระดับนโยบายและมหาวิทยาลัยสามารถได้ประโยชน์จากความเป็นสากลและอยู่รอดร่วมกันได้ในโลกอนาคตได้อย่างรู้เท่าทันและมีความสุขบนความหลากหลายและความแตกต่างทางเชื้อชาติ ภาษาและวัฒนธรรม
แนวทางสู่การสร้างความเป็นสากล IaH
ประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศหนึ่งที่ศึกษาวิจัยเรื่องความเป็นสากลในบ้าน หรือ IaH อย่างเข้มข้น และให้ความสำคัญต่อความสามารถด้านต่างประเทศและการจัดการเรื่องข้ามวัฒนธรรม โดยรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้บรรจุเรื่อง laH เป็นนโยบายเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการอุดมศึกษาและการวิจัยตั้งแต่ปี 2558-2568 โดยเน้น 3 มิติ คือ ความเป็นสากล ความเป็นสากลเต็มรูปแบบ และความเป็นสากลของหลักสูตร โดย European Association for International Education (EAIE) ได้เสนอแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการการสร้างความเป็นสากลในบ้าน หรือ laH ไว้ดังนี้
1. ส่งเสริมให้นักศึกษามีมุมมองที่เป็นสากลผ่านการเรียนในหลักสูตร ไม่ว่าจะได้ไปแลกเปลี่ยนต่างประเทศหรือไม่
2. ส่งเสริม laH ไม่เฉพาะแค่วิชาเลือกหรือวิชาเฉพาะ
3. เน้น learning outcomes ของหลักสูตรที่มีมุมมองด้านต่างประเทศ
4. ส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรมในห้องเรียน ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ การสอนและการประเมินผล
5. สร้างโอกาสให้นักศึกษามีประสบการณ์ทางวัฒนธรรมที่แตกต่างในชุมชน
6. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกคนไม่เฉพาะนักวิชาการ อาจารย์ และนักวิเทศสัมพันธ์
7. ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษ
8. ใช้ virtual mobility ให้เกิดการเรียน การทำกิจกรรมกับนักศึกษาในต่างประเทศเพื่อเพิ่มทักษะการสื่อสารทางสังคม
9. สร้างความรู้สึกผูกพันที่มีความหมายให้กับนักศึกษาต่างชาติ
ผู้เขียนสรุป: นางสาวชฎาพร โชติรดาภาณ์ นักวิเทศสัมพันธ์
อ้างอิง:
พรทิพย์ กาญจนนิยต. (2019). INTERNATIONALIZATION AT HOME: ความเป็นสากลเบ่งบานได้จากในบ้าน. [Online]. Available: http://www.fulbrightthai.org/knowledge. [2563, เมษายน 22].
วิเทศสัมพันธ์และกิจการอาเซียน มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2563). ความเป็นสากลในบ้าน. สืบค้น 3 ตุลาคม 2567, จาก https://iraa.kpru.ac.th/page_id/255/TH
ข้อมูลอื่น ๆ
ความร่วมมือด้านต่างประเทศของมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร (KPRU International Collaboration)
เผยแพร่เมื่อ 25 กันยายน 2568
Executives of Xishuangbanna Vocational and Technical College visited KPRU
เผยแพร่เมื่อ 11 กันยายน 2567
คณะผู้บริหารจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาและเทคนิคสิบสองปันนา เยือนมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร กระชับความสัมพันธ์สู่ปีที่ 5!
เผยแพร่เมื่อ 11 กันยายน 2567