สรุปผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาประชากรอาเซียนสู่คุณภาพในบทบาทเวทีโลก
สรุปผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาประชากรอาเซียนสู่คุณภาพในบทบาทเวทีโลก งานวิเทศสัมพันธ์และกิจการอาเซียน สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ประจำปีงบประมาณ 2563
ASEAN Young Leaders KPRU Smart Boy & Girl ASEAN Leadership 1
ASEAN Leadership 2 ASEAN Leadership 3 ASEAN Leadership 4
Global Compettion เยี่ยมคารวะเอกอัครราชทูตเวียดนาม ชุมชนไทยแบ่งปัน เข้มแข็งสู่สากล ไปด้วยกัน
วีดีโอเรื่องเล่าชุมชนไทยแบ่งปัน เข้มแข็งสู่สากล ไปด้วยกัน
1. กิจกรรม ASEAN Young Leaders
จัดกิจกรรม ASEAN Young Leaders เมื่อวันพุธที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ณ ห้องกาซะลอง หอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมรวม 100 คน
ผลผลิต : เยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมได้นำเสนอ "บทบาทเยาวชนไทยในเวทีอาเซียนกับการสร้างความเป็นสากลในกลุ่มเยาวชนจังหวัดกำแพงเพชร" ซึ่งทุกคนมีแนวคิดที่หลากหลาย แต่พร้อมที่จะช่วยกันทำหน้าที่ขับเคลื่อนความเป็นสากลให้เกิดขึ้นแก่เยาวชนในพื้นด้วยกันทั้งทักษะด้านภาษา ทัศนคติ มุมมอง และความกล้าที่จะก้าวข้ามและออกจากพื้นที่ความสะดวกสบายเพื่อเรียนรู้โลกกว้างโดยเฉพาะประเทศอาเซียนผ่านกิจกรรมและโครงการแลกเปลี่ยนต่างๆ เป็นต้น ในการนี้มีเยาวชนได้รับคัดเลือกเป็น ASEAN Young Leaders จำนวน 28 คน ซึ่งจะได้เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ประชาสัมพันธ์บทบาทเยาวชนจังหวัดกำแพงเพชรในเวทีอาเซียน ณ สถานทูตประเทศอาเซียนประจำประเทศไทยต่อไป
โดยผลการประเมินกิจกรรมด้านความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรม ASEAN Young Leaders ผลการประเมินภาพรวมพบว่าอยู่ในระดับมาก ( = 4.25) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ประเด็นด้านกระบวนการและขั้นตอนการจัดกิจกรรมข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด 3 ข้อแรก ได้แก่ 1) การส่งเสริมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 2) ได้รับความรู้หรือประโยชน์จากกระบวนการจัดกิจกรรมทุกขั้นตอน และ 3) กระบวนการจัดกิจกรรมตรงกับวัตถุประสงค์การจัดงาน
ประเด็นด้านทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด 3 ข้อแรก ได้แก่ 1) ได้รับการพัฒนาทักษะด้านการแก้ไขปัญหา 2) ได้รับการพัฒนาทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ และ 3) ได้รับการพัฒนาทักษะด้านสังคมและการอยู่ร่วมกัน
ประเด็นด้านคุณภาพ ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด 3 ข้อแรก ได้แก่ 1) ได้ประโยชน์จากการเข้าร่วมกิจกรรม 2) ได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียน และ 3) เกิดแรงจูงใจในการพัฒนาศักยภาพและทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ของตนเองสู่การเป็นเยาวชนอาเซียนที่มีคุณภาพ
2. กิจกรรม Global Competition
จัดกิจกรรม English Expo and International Cultural Festival ณ ห้องสุพรรณิการ์ อาคารกองพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมรวม 127 คน
ผลผลิต : นักศึกษาได้มองเห็นศักยภาพของตนเองมากขึ้นมีความกล้าและมั่นใจในการใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้น ที่สำคัญมีทัศนคติที่ดีต่อการใช้และการเรียนภาษาอังกฤษมากขึ้น รวมถึงยังได้ข้อคิดและเทคนิคดีๆ ในการไปพัฒนาทักษะภาษาของตนเองต่อไปด้วย
โดยผลการประเมินกิจกรรมด้านความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรม English Expo and International Cultural Festival ผลการประเมินภาพรวมพบว่าอยู่ในระดับมากที่สุด ( = 4.52)
เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ประเด็นด้านกระบวนการและขั้นตอนการจัดกิจกรรมข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด 3 ข้อแรก ได้แก่ 1) ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ 2) ได้รับความรู้หรือประโยชน์จากกระบวนการจัดกิจกรรมทุกขั้นตอน และ 3) มีการอำนวยความสะดวกในการเข้าร่วมกิจกรรม
ประเด็นด้านทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด 3 ข้อแรก ได้แก่ 1) ได้รับการพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารและความร่วมมือ 2) ได้รับการพัฒนาทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ และ 3) ได้รับการพัฒนาทักษะด้านความสามารถในการปรับตัวเพิ่มขึ้น
ประเด็นด้านคุณภาพ ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด 3 ข้อแรก ได้แก่ 1) เกิดแรงจูงใจในการพัฒนาศักยภาพและทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ของตนเองสู่การเป็นเยาวชนอาเซียนที่มีคุณภาพ 2) สามารถนำความรู้จากการเข้าร่วมกิจกรรมไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ และ 3) ได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพของตนเองด้านภาษา
3. กิจกรรม ASEAN Leadership
จัดกิจกรรม ASEAN Leadership 7-10 กุมภาพันธ์ 2563 ณ หอประชุมรัตนอาภา มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมรวม 110 คน
ผลผลิต : ASEAN Leadership 2020 ประจำปีงบประมาณ 2563 มีผู้เข้าร่วมจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ดังนี้
1. มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ประเทศไทย
2. มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ประเทศไทย
3. มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ประเทศไทย
4. มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ ประเทศไทย
5. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พิษณุโลก ประเทศไทย
6. Dagon University ประเทศเมียนมา
7. Provincial Teacher Training College ประเทศกัมพูชา
8. University of Foreign Languages Yangon ประเทศเมียนมา
9. Universiti Kuala Lumpur ประเทศมาเลเซีย
โดยกิจกรรม ASEAN Leadership 2020 ได้รับเกียรติจากผู้ช่วยศาสตราจารย์รัตนา รักการ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร เป็นประธานกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรม โดยมีนางสาวสุพัตรา คล้ายทิม รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรม ร่วมด้วยผู้มีเกียรติรวมกว่า 110 คน
สำหรับกิจกรรม ASEAN Leadership 2020 ประกอบไปด้วย การบรรยายพิเศษ หัวข้อ “ASEAN Youth in the 21st Century Skill” โดยคุณสุดปฐพี เวียงสี วิทยากรมากความสามารถและเน้นทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 กิจกรรมเรียนรู้ความเป็นไทย กิจกรรม Volunteer Project โดยในปีนี้เป็นการจัดทำ VDO แนะนำอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรในหลากหลายภาษาแบบสร้างสรรค์ตามแนวทางของเยาวชนอาเซียน และส่งมอบแก่จังหวัดกำแพงเพชรเพื่อใช้เผยแพร่อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรต่อไป นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมที่สร้างความรักความสามัคคีแก่เยาวชนด้วยกัน อาทิ ASEAN Rally Activity การแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมระหว่างเยาวชนอาเซียนด้วยกัน รวมถึงการนำเสนอความคิดเห็นของเยาวชนอาเซียนในประเด็น “Leadership in the Future” ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดมุ่งเน้นให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีภาวะผู้นำที่สูงขึ้น กล้าแสดงออกในแนวทางที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาภูมิภาคอาเซียนร่วมกัน ที่สำคัญ สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขบนความแตกต่างทางภาษาและวัฒนธรรมอย่างกลมกลืน
โดยผลการคัดเลือกรางวัลผู้นำอาเซียนดีเด่น ประจำปี 2563 ซึ่งเป็นผลจากการลงคะแนนโหวตจากผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด ประกอบด้วยผลรางวัลดังนี่
1. รางวัลผู้นำอาเซียนดีเด่น (The best ASEAN Leadership 2020) ซึ่งหมายถึง ผู้ที่มีความโดดเด่นด้านภาวะผู้นำ เป็นผู้ที่เป็นที่ยอมรับของผู้เข้าร่วมโครงการในทุกด้านโดยภาพรวม และเป็นผู้ที่มีความประพฤติดี เป็นแบบอย่างที่ดี แก่ผู้อื่น กล้าคิด กล้าแสดงออกอย่างเหมาะสม ซึ่งผู้ที่ได้รับรางวัลนี้ คือ Mr. Kyaw Soe Thu จากมหาวิทยาลัย Dagon ประเทศเมียนมา
2. รางวัล Popular Vote คือ ผู้ที่ได้รับการโหวตเป็นขวัญใจของกิจกรรม ASEAN Leadership 2020 มากที่สุด ซึ่งผู้ที่ได้รับรางวัลนี้ คือ Mr. Maythawee Sorndee จากคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ประเทศไทย
3. รางวัลมิตรภาพอาเซียน (ASEAN Friendship) คือ ผู้ที่มีความโดดเด่นด้านมนุษยสัมพันธ์และความเป็นมิตรกับเพื่อนทุกประเทศ และเป็นผู้ที่มีน้ำใจ ช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความเต็มใจ ซึ่งผู้ที่ได้รับรางวัลนี้ คือ Miss Farhana Hazwani Binti Mohd Salleh Rehad จากมหาวิทยาลัย Kuala Lumpur ประเทศมาเลเซีย
4. รางวัล The best host คือ ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้านที่ดี คอยช่วยเหลือ ดูแลเพื่อนๆ ตลอดการเข้าร่วมกิจกรรม ได้แก่ Mr. Natthawat Kaewkampisut จากคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ประเทศไทย
5. รางวัล Good supporter คือ ผู้ที่ทำหน้าที่ให้การสนับสนุน อำนวยความสะดวก และช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ได้แก่ Mr. Wassu Phimpha จากคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ประเทศไทย
6. รางวัล The best participant คือ ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่ดีในทุกๆ กิจกรรมโดยไม่มีเหน็ดเหนื่อย สนุกสนานและพร้อมเรียนรู้ทุกกิจกรรมเป็นอย่างดี ได้แก่ Miss Phattaratida Atipatdechasakul จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ประเทศไทย
7. รางวัล The best team participants คือ ทีมผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่เดินทางมาเข้าร่วมกิจกรรมด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างมากกับทุกกิจกรรม และพร้อมจะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปถ่ายทอดต่อยอดแก่เพื่อนๆ ในประเทศของตนเอง ได้แก่ ทีมผู้เข้าร่วมกิจกรรมจาก Provincial Teacher Training College ประเทศกัมพูชา
โดยตลอดระยะเวลา 4 วัน 3 คืน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากสถาบันการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต่างมีความประทับใจอย่างมากกับทุกกิจกรรม มีความสนุกสนาน ได้แสดงความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ และมอบมิตรภาพแก่กันและกัน เป็นเยาวชนอาเซียนที่ต่างเติมเต็มศักยภาพร่วมกัน ตลอดจนการแลกเปลี่ยนภาษา วัฒนธรรม ความคิด และประสบการณ์ รวมทั้ง ทุกคนยังได้ฝึกฝนการทำงานเป็นทีมที่ทุกคนมีความแตกต่างและหลากหลาย แต่สามารถอยู่รวมกันและทำกิจกรรมที่ได้รับมอบหมายให้ประสบความสำเร็จได้อย่างกลมกลืนและมีความภาคภูมิใจร่วมกันบนพื้นฐานของการเป็นเยาวชนอาเซียนที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน อันจะนำไปสู่พลังเครือข่ายเยาวชนอาเซียนที่เข้มแข็งต่อไป
โดยผลการประเมินการจัดกิจกรรม ASEAN Leadership 2020 ซึ่งเก็บผลการประเมินได้จริงจำนวน 75 ชุด ผู้ตอบแบบประเมินแบ่งเป็นนักศึกษาไทยจำนวน 61 คน และนักศึกษาต่างชาติจำนวน 14 คน ผลการประเมินพบว่าภาพรวมการจัดกิจกรรมอยู่ในระดับมาก ( = 4.30) เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความพึงพอใจต่อกิจกรรมใน 3 ลำดับแรก คือ I can get a new approach, friendship มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก ( = 4.43) รองลงมา คือ I can make my leadership อยู่ในระดับมาก ( = 4.30) และ I can get and following connection ASEAN friend อยู่ในระดับมาก ( = 4.25)
4. กิจกรรม เยาวชน ASEAN Young Leaders เข้าเยี่ยมคารวะทูตอาเซียน
จัดกิจกรรม ผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชรนำคณะเยาวชน ASEAN Young Leaders เข้าเยี่ยมคารวะทูตเวียดนาม ประจำประเทศไทย ณ สถานทูตเวียดนามประจำประเทศไทย กรุงเทพมหานคร มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมรวม 33 คน
ผลผลิต : เยาวชน ASEAN Young Leaders ได้เรียนรู้ระเบียบพิธีการทางการทูต ขั้นตอนการเข้าเยี่ยมคารวะทูตและผู้แทนประเทศของต่างประเทศ ได้รับฟังการบรรยายเกี่ยวกับบทบาทประธานอาเซียนของเวียดนาม เป้าหมายและวิสัยทัศน์การพัฒนาอาเซียน ที่สำคัญเยาวชนทุกคนได้ใช้ทักษะภาษาอังกฤษของตนเองในการถามคำถาม การสนทนากับผู้บริหารสถานทูต การแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างเยาวชนกับผู้บริหาร การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างเยาวชนด้วยกัน ทำให้เกิดแรงจูงใจในการพัฒนาศักยภาพของตนเอง และการต่อยอดเพื่อพัฒนาเยาวชนในสถาบันการศึกษาของตนเองต่อไป โดยเฉพาะการพัฒนาตนเองสู่ความเป็นสากล ทั้งวิธีคิด มุมมอง และทัศนคติ ความเข้าใจต่อผู้อื่นและประเทศอื่นมากขึ้น มองเห็นศักยภาพที่ตนเองมีและพร้อมต่อความเปลี่ยนแปลงในอนาคต
นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นของเยาวชนต่อการเป็นสถาบันอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชรในการเป็นอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้จริง และเพิ่มความมั่นใจต่อคุณภาพของมหาวิทยาลัยในการพัฒนาบัณฑิตสู่ความเป็นสากลมากขึ้น
5. กิจกรรม KPRU Smart Boy & Girl
จัดกิจกรรม KPRU Smart Boy & Girl 2020 โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร. ปาจรีย์ ผลประเสร็ฐ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและประกันคุณภาพการศึกษา เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรม ณ ห้องกาซะลอง หอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ โดยกิจกรรม KPRU Smart Boy & Girl 2020 (ปี 6) มีนักศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกเป็น KPRU Smart Boy & Girl 2020 จำนวน 34 คน ซึ่งนักศึกษาที่ได้รับคัดเลือกในแต่ละปีจะได้รับโอกาสในการเดินทางไปแลกเปลี่ยนในต่างประเทศ เพื่อพัฒนาทักษะและประสบการณ์การเรียนการใช้ชีวิตในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม สำหรับปีนี้กับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปแลกเปลี่ยนในต่างประเทศได้ มหาวิทยาลัยฯ จึงได้ปรับเปลี่ยนกิจกรรมเป็นการนำนักศึกษาที่ได้รับคัดเลือกลงพื้นที่ชุมชนเพื่อการพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งสู่สากลไปด้วยกัน โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 29-31 กรกฎาคม 2563 ที่จะถึงนี้
ผลผลิต : นักศึกษาได้รับความรู้และข้อคิดดีๆ จากวิทยากรคุณภาคภูมิ พินเมืองทอง ในหัวข้อ How to be smart people ซึ่งวิทยากรได้เล่าประสบการณ์การแลกเปลี่ยนในต่างประเทศและการพัฒนาตนเองอยู่เสมอเพื่อให้เก่งขึ้นในแบบฉบับของตัวเอง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อน้องๆ นักศึกษาผู้เข้าร่วมกิจกรรมอย่างยิ่ง
6. กิจกรรม ชุมชนไทย แบ่งปัน เข้มแข็งสู่สากล ไปด้วยกัน
จัดกิจกรรม งานวิเทศสัมพันธ์และกิจการอาเซียน ได้จัดกิจกรรมชุมชนไทย แบ่งปัน เข้มแข็งสู่สากล ไปด้วยกัน (Global Thai Community Sharing, Stronger Together) ในวันที่ 29 – 31กรกฎาคม 2563 ณ สำนักงานเทศบาลตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร โดยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร และหน่วยงานฝ่ายปกครองและท้องถิ่นตำบลคลองลานพัฒนา กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและหน่วยงานท้องถิ่นในเทศบาลตำบลคลองลานพัฒนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งสู่สากลผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยฯ กับผู้นำชุมชน อาสมัครหมู่บ้าน และชาวบ้านในชุมชนต่างๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและร่วมกันพัฒนาชุมชนไปในแนวทางที่เป็นความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง ตลอดจนการเผยแพร่ข้อมูลและเรื่องเล่าชุมชนไปยังเครือข่ายในต่างประเทศได้อย่างเหมาะสมและถูกต้องด้วยชุมชนเอง
โดยชุมชนในเขตเทศบาลตำบลคลองลานพัฒนาเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายของวัฒนธรรมชนเผ่าที่โดดเด่น และสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญหลายแห่ง รวมถึงเรื่องเล่าชุมชนที่น่าสนใจ สำหรับการจัดกิจกรรมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมรวมทั้งสิ้น 200 คน ประกอบด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาจารย์และนักศึกษา ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน อาสาสมัครหมู่บ้าน และชาวบ้านจาก ๒๑ ชุมชน โดยมีกิจกรรมต่างๆ อาทิ การบรรยายเรื่อง “ความสำคัญของการสร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศ” การนำเสนอและแลกเปลี่ยน Model: “ชุมชนไทย แบ่งปัน เข้มแข็งไปด้วยกัน” กิจกรรมเรียนรู้อาเซียน กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาสื่อสำหรับเผยแพร่ข้อมูลชุมชนสู่สากล ได้แก่การจัดทำ Mini local guides towards internationalization และการจัดทำ International แพลตฟอร์มเพื่อยกระดับการขายสินค้าชุมชนออนไลน์สู่สากล กิจกรรมบรรยายการดูแลสุขภาพตนเองเบื้องต้น และการถ่ายทำวีดีโอ “เรื่องเล่าของชุมชน สู่ความเข้มแข็งของสังคม” ซึ่ง ๒๑ ชุมชนได้คัดเลือกเรื่องเล่าที่น่าสนใจและถ่ายทำเป็นวีดีโอเผยแพร่จำนวน ๑๑ เรื่อง และเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียลต่างๆ อาทิ Website, You Tube, Line และ Facebook ทั้งนี้ งานวิเทศสัมพันธ์ฯ จะได้ดำเนินการแปลเป็นภาษาอังกฤษเพื่อเผยแพร่ผ่านเครือข่ายในต่างประเทศต่อไป
ผลผลิต : โดยกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ได้ช่วยทำให้แต่ละชุมชนได้รู้จักกันและกันในมุมมองที่หลากหลายก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของการดำเนินกิจกรรมความร่วมมือกับต่างประเทศ วัฒนธรรมและความหลากหลายของชุมชนในท้องถิ่นกำแพงเพชรจะนำไปสู่การเผยแพร่และเป็นที่รู้จักในต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างเครือข่ายในรูปแบบทวิภาคีต่อไป เช่น จังหวัดพี่จังหวัดน้อง (Sister City) หรือในนามลักษณะท้องถิ่นกับท้องถิ่น (Local city) เพื่อสร้างความเข้มแข็ง และความเป็นสากลไปด้วยกันระหว่างท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชรด้วยกันเองและกับประเทศต่างๆ ที่สนใจทำความร่วมมือในอนาคต
ผู้จัดทำรายงานสรุป: นางสาวชฎาพร โชติรดาภาณ์ นักวิเทศสัมพันธ์
ผู้จัดทำระบบสารสนเทศและพัฒนาระบบ: นายอนุชา พวงผกา บรรณารักษ์
วิเทศสัมพันธ์และกิจการอาเซียน มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2563). สรุปผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาประชากรอาเซียนสู่คุณภาพในบทบาทเวทีโลก. สืบค้น 2 ธันวาคม 2567, จาก https://iraa.kpru.ac.th/page_id/287/TH
ข้อมูลอื่น ๆ
ความร่วมมือด้านต่างประเทศของมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร (KPRU International Collaboration)
เผยแพร่เมื่อ 25 กันยายน 2568